หนึ่งในเทคโนโลยีที่มาแรงมากในปีนี้คงหนีไม่พ้น VR หรือ Virtual Reality ซึ่งสร้างประสบการณ์เสมือนให้กับผู้ใช้ได้เหมือนกับเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์จริง ๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจและมีความซับซ้อนแล้ว สิ่งที่หลาย ๆ คนคาดไม่ถึงคือการนำมันมาประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ในด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากความบันเทิงในรูปแบบเกมที่เราเห็นกันจนมากมายในตลาดอีกด้วย
เมื่อเด็กที่ป่วยไข้ กลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง
คุณรู้หรือไม่ว่าเด็ก ๆ ในโรงพยาบาลเขารู้สึกเศร้าและเครียดเพียงใด เพราะชีวิตของพวกเขาเกือบตลอดเวลาต้องอยู่บนเตียง มีสายระโรงระยาง ชีวิตแต่ละวันผ่านไปอย่างหมดหวัง โรงพยาบาลกลายเป็นคุกสำหรับคนป่วย แว่นตา VR นี้จึงเสมือนเป็นเครื่องปลดปล่อยพันธนาการและความสิ้นหวังของเด็ก ๆ เหล่านี้
เบื้องหลังรอยยิ้มของเด็ก ๆ ทีมงานต้องยกทีมโพรดักชันไปที่สวนสนุกเพื่อถ่ายภาพ 360 องศาขณะนั่งเครื่องเล่นหรือชมการแสดงต่าง ๆ จากนั้นก็นำมาใส่ในแอพพลิเคชันเพื่อโหลดลงมือถือ และนำมือถือเข้าไปใส่ในเครื่อง Samsung Gear VR
เมื่อเด็กคนไหนได้สวมใส่และเห็นเนื้อหาอันน่าตื่นเต้นในจอที่เสมือนจริงสุด ๆ ก็ช่วยให้พวกเขาได้สัมผัสกับความสนุกจากโลกภายนอกเหมือนเด็ก ๆ คนอื่นได้ เมื่อพ่อแม่เห็นลูกมีความสุขแบบนี้ ตัวเองก็สุขยิ่งกว่า
สร้างเมืองในฝันกับ Dreamscape Project II
Dreamscape Project II เป็นโปรเจ็กต์ที่ครีเอตขึ้นโดยกลุ่มคนทำงานด้านวิชวลดีไซน์ Eyedropper Fill สตูดิโอที่ทำงานศิลปะสร้างสรรค์โดยเน้นการทดลอง การผสมผสานกันของสื่อหลากหลาย ทั้งภาพเคลื่อนไหว แสง อินสตอลเลชันอาร์ต และสื่ออื่น ๆ โดยไม่มีขอบเขตจำกัด ซึ่ง Dreamscape Project II นี้เป็นหนึ่งโปรเจ็กต์น่าสนใจที่เกิดจากการผสมผสานกันระหว่างศิลปะ เทคโนโลยี และความคิดของคนในชุมชน โดยมีปัญหาสังคมเป็นตัวตั้ง
โดย Eyedropper Fill ได้ลงพื้นที่และสอบถามคนจำนวน 60 คนด้วยคำถามว่า “ความฝันของคุณมีหน้าตาเป็นอย่างไร ?” แล้วให้แต่ละคนวาดภาพความฝันของตัวเองออกมา และถ่ายทอดผ่านเทคนิค ‘Mobile Projection’ ที่ฉายไปตามตึกในกรุงเทพ
เริ่มต้นด้วยคำถามที่ว่า “เมืองที่คุณอยากอยู่หน้าตาเป็นอย่างไร?” Eyedropper Fill จะลงพื้นที่ชุมชนที่มีพื้นฐานวิถีชีวิตแตกต่างกันให้พวกเขาเล่าจินตนาการของตัวเอง และร่วมวาดภาพภายในวงกลมเดียวกัน เป็นกิจกรรมที่จะสะท้อนให้เห็นความคิดของแต่ละคนผ่านงานศิลปะ และเห็นบทบาทของแต่ละคนในชุมชน ผ่านการแบ่งปันพื้นที่ในภาพวาด
Eyedropper Fill จะนำภาพวาดเหล่านั้นมาทำเป็น ‘เมืองในฝัน‘ 3D แบบ 360 องศา แสดงผลผ่านแว่น Virtual Reality (VR) เป็นเทคโนโลยีที่สร้างภาพ ‘เสมือนจริง’ เพื่อจำลองสภาพแวดล้อมจากภาพเมืองในฝันที่คนในชุมชนร่วมกันวาด จากนั้นก็จะนำแว่น VR นั้นกลับไปให้คนในชุมชนได้สวมใส่ เพื่อให้พวกเขาได้เห็นในสิ่งที่ตัวเองเป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง
Dreamscape Project II เป็นโปรเจ็กต์คลาวด์ฟันดิ้งที่ไม่แสวงหาผลกำไร และมุ่งหวังให้โปรเจ็กต์นี้หลอมรวมงานศิลปะ ผู้ชม และชุมชนเข้าด้วยกันอย่างไม่มีเส้นแบ่ง หากคุณสนใจโปรเจ็กต์นี้ หรือต้องการสนับสนุนโปรเจ็กต์นี้ให้สำเร็จ สามารถเข้าไปได้ที่ http://asiola.co.th/campaign/dreamscape-project-ii-by-eyedropper-fill
Gear VR ก็สามารถเป็นแรงกระตุ้นให้ใครบางคนได้เหมือนกัน
ผู้หญิงคนหนึ่เธอเป็นคนขี้อาย ไม่กล้าแสดงออก หรือพูดในที่สาธารณะ แต่ในยุคดิจิทัลแบบนี้ เธอมีวิธีสร้างความมั่นใจให้ตนเอง โดยการฝึกพูดต่อหน้าคนจำนวนมาก โดยใช้แว่น Gear VR นี่แหละเป็นตัวช่วยในการฝึกฝนในโลกเสมือนจริงในสถานการณ์นั้น ๆ เพื่อลดความกลัวและความกังวล เมื่อถึงเวลาที่ต้องทำจริง เธอก็สามารถทำได้สำเร็จด้วยความมั่นใจ
เปลี่ยนทีมที่แย่ที่สุดให้มีพลังในการต่อสู้ในสนาม
ใครจะเชื่อว่าพลังแห่งการปลุกเร้าจะช่วยให้ทีมที่แย่ที่สุดเปลี่ยนไป เมื่อ Samsung ได้ลองนำ Gear VR และ Galaxy S7 ไปใช้กับทีม New Mills AFC ของอังกฤษ ที่ได้ชื่อว่าเป็นทีมที่แย่ที่สุดในอังกฤษ ว่าจะใช้ Gear VR นี้เป็นแรงกระตุ้นได้หรือไม่ ซึ่งเมื่อนักฟุตบอลเขามาในห้องแต่งตัว นักฟุตบอลทุกคนก็ได้ใส่ Gear VR ซึ่งจะเปิดวิดีโอที่เป็นการพูดของ แฮร์รี เรดแนปป์ ผู้จัดการทีมฟุตบอลสัญชาติอังกฤษ ที่จะให้กำลังใจและเป็นแรงกระตุ้นให้นักฟุตบอลทุกคน
ที่มา : http://www.aripfan.com/vr-inspiration/