Credit: Netflix
หลายๆ คนในวงการ IT คงจะตระหนักถึงปัญหาเรื่องการขาดแคลนบุคลากรทางด้าน IT ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างหนักในประเทศไทยอยู่แล้ว และในอนาคตปัญหานี้ก็มีแนวโน้มที่จะแย่ลงไปอีก ทางทีมงาน TechTalkThai มีโอกาสได้ดูสารคดีเรื่อง Codegirl ใน Netflix และเห็นว่าเป็นสารคดีหนึ่งที่น่าจะเข้ามาตอบโจทย์นี้ให้เราได้บ้างไม่มากก็น้อย จึงขอหยิบยกมาแนะนำให้ทุกท่านได้ไปดูกันดังนี้ครับ
สารคดีเรื่อง Codegirl นี้มีความยาว 1 ชั่วโมง 47 นาที มี Subtitle ภาษาไทยและภาษาอังกฤษให้ดู (ภาษาอังกฤษต้องเลือกแบบ [CC] นะครับ) โดยเป็นเรื่องราวของเหล่าเด็กสาวทั่วโลกที่เข้าร่วมแข่งขันในงาน Technovation ซึ่งเป็นการแข่งขันพัฒนาเทคโนโลยีและธุรกิจเพื่อช่วยเหลือสังคม โดยมีข้อบังคับว่าสมาชิกในทีมต้องเป็นผู้หญิงอายุ 10-18 ปีเท่านั้น เพราะจุดมุ่งหมายของโครงการนี้ คือการเสริมสร้างผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีหญิงให้มีจำนวนมากขึ้น สร้างโอกาสในการทำงานด้านเทคโนโลยีให้กับผู้หญิงมากขึ้น และลดปัญหาเรื่องการกีดกันทางเพศในวงการ IT ให้ลดน้อยลง
ภายในสารคดีนี้จะเป็นการถ่ายทำทีมต่างๆ ที่ได้เข้าร่วมในโครงการ Technovation ตั้งแต่ตอนเริ่มต้นโครงการไปจนถึงวันประกาศผลทีมชนะ ซึ่งเราจะได้เห็นภาพในมุมที่หลากหลาย ทั้งการเริ่มต้นเข้าร่วมโครงการจากเหล่าเด็กๆ ที่มีความพร้อมทั้งความรู้และความสามารถ ไปจนถึงเหล่าเด็กๆ ที่ยังไม่เคยมีโอกาสได้เขียนโปรแกรมหรือธุรกิจเลย แต่ต้องมาเรียนรู้เรื่องพวกนี้ภายในเวลา 3 เดือนเพื่อเข้าแข่งขัน
ประเด็นที่น่าสนใจคือเราจะได้เห็นว่ามีปัจจัยใดบ้างที่จะส่งเสริมให้เหล่าเด็กๆ ได้สามารถแสดงศักยภาพและสร้างสรรค์เทคโนโลยีต่างๆ ขึ้นมาได้ด้วยตัวเองตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งถ้าหากใครมีแนวทางอยู่แล้วว่าอยากจะทำโครงการ CSR เพื่อผลักดันสังคมไทยให้มีบุคลากรทางด้าน IT และธุรกิจสมัยใหม่ที่มีคุณภาพมากขึ้น สารคดีเรื่องนี้น่าจะช่วยเป็นแรงบันดาลใจและให้แง่คิดได้ดีทีเดียวครับ โดยถึงแม้ในสารคดีจะมุ่งเน้นไปที่เด็กผู้หญิงเป็นหลัก แต่ก็สามารถนำมาปรับใช้ได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงประเด็นเรื่องความแตกต่างทางเพศครับ
สำหรับผู้ที่ใช้ Netflix อยู่แล้ว รับชมเรื่อง Codegirl ได้ทาง https://www.netflix.com/title/80085424 เลยครับ
Technovation: งานแข่งขันพัฒนาธุรกิจและ Mobile Application ที่แนะนำให้เด็กไทยได้ไปสมัครกัน
Credit: Technovation
สำหรับงาน Technovation ซึ่งเป็นงานแข่งขันพัฒนาธุรกิจแและ Mobile Application ที่สารคดีเรื่อง Codegirl ได้นำมาใช้เป็นตัวดำเนินเรื่องราวนี้ จะเปิดรับสมัครทีมเข้าแข่งขันสำหรับปี 2018 ตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2017 เป็นต้นไปครับ โดยเว็บไซต์ของโครงการนั้นอยู่ที่ http://technovationchallenge.org/ และสามารถลงชื่อเพื่อให้ทางโครงการแจ้งเตือนเมื่อการรับสมัครเริ่มต้นขึ้นได้ที่ https://confirmsubscription.com/h/d/15B1DBF38F40C405 ครับ โดยในปี 2016-2017 ที่ผ่านมาก็มีทีมไทยไปร่วมแข่งขันอยู่ด้วยเช่นกัน
โครงการนี้สนับสนุนโดย UNESCO, Peace Corps และ UN Women เป็นหลัก โดยหากใครอยากร่วมสนับสนุนโครงการก็สามารถร่วมบริจาคเงินได้ที่ http://technovationchallenge.org/donate/ ครับ
Spoiler Alert: สรุปสั้นๆ ว่าเราจะผลักดันเยาวชนให้ก้าวสู่วงการ IT ได้อย่างไร
สิ่งที่เห็นได้ค่อนข้างชัดเจนจากสารคดีเรื่องนี้มีดังนี้
1. การให้คำแนะนำจากผู้ใหญ่ที่มีความรู้ และพร้อมจะช่วยสนับสนุนเด็กๆ ด้วยความคิดเห็นที่เหมาะสม
ในเรื่องนี้เราจะได้เห็นภาพของ Mentor หรือที่ปรึกษาของเด็กๆ ในแต่ละทีมที่มีความจริงจังค่อนข้างมาก คอยช่วยสนับสนุนเด็กๆ ทั้งในแง่ของการให้คำปรึกษา, การให้คำแนะนำ, การช่วยติดต่อประสานงานให้เด็กๆ มีโอกาสได้ไปพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการที่เด็กๆ อยากทำ เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ถึงปัญหาที่แท้จริง และนำปัญหาเหล่านั้นกลับมาขบคิดเพื่อนำไปสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาใหม่ๆ ด้วยการนำเทคโนโลยีไปใช้ และสร้าง Business Model ขึ้นมารองรับไปพร้อมๆ กัน
การสนับสนุนจากผู้ใหญ่ที่มีความรู้และพร้อมที่จะใช้เวลากับเด็กๆ เหล่านี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมากทีเดียว ในขณะที่เหล่าผู้ปกครองเองก็ต้องทำความเข้าใจและให้การสนับสนุนเด็กๆ ด้วยเช่นกัน
2. การเปิดให้เด็กๆ มีเวลาและโอกาสได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่นอกเหนือจากการเรียนภายในห้องเรียน
การเรียนรู้เรื่องธุรกิจ, การพัฒนา Mobile Application และปัญหาสังคมเพื่อนำทั้งหมดนี้มาผสานเป็นโซลูชันสำหรับนำเสนอในการประกวดครั้งนี้ล้วนแล้วแต่เป็นศาสตร์ใหม่ๆ ที่เด็กๆ ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ด้วยตัวเองเพิ่มเติมทั้งสิ้น ในสารคดีฉบับนี้เราจะได้เห็นเด็กๆ ใช้เวลานอกห้องเรียนไปกับการเรียนรู้ในสิ่งเหล่านี้ ซึ่งแน่นอนว่าทั้งโรงเรียนและบ้านต่างก็ต้องช่วยสนับสนุนเด็กๆ ให้มีพื้นที่ในการเรียนรู้ทั้งในเวลาและนอกเวลากันได้ด้วยตัวเองอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ดี ในสารคดีนี้เราก็จะได้เห็นภาพของเด็กแต่ละกลุ่มที่สภาพแวดล้อมมีความพร้อมให้ในระดับที่ต่างกันออกไป ก็เป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียวครับ
3. การเปิดให้เด็กๆ สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อเรียนรู้และใช้งานได้ โดยไม่ติดปัญหาด้านลิขสิทธิ์
ในการนำเสนอโครงการกับทาง Technovation นั้นนอกจากจะต้องส่ง Mobile Application และ Project Proposal แล้ว ในรอบแรกนั้นก็ยังจะต้องส่ง Video สำหรับการ Pitch โครงการเบื้องต้นด้วย และเราก็จะได้เห็นเด็กๆ ได้ใช้งานเทคโนโลยีที่หลากหลายในการจัดการสร้างสิ่งต่างๆ เหล่านี้ขึ้นมาส่ง ไม่ว่าจะเป็น IDE สำหรับการพัฒนา Application, Word Processing, Cloud Document ไปจนถึงซอฟต์แวร์ตัดต่อ Video ซึ่งเด็กๆ เหล่านี้ก็สามารถเข้าถึงและเรียนรู้การใช้งาน Software เหล่านี้ได้ด้วยตนเองเพื่อสร้างผลลัพธ์ตามที่ต้องการออกมา เรียกได้ว่าเด็กๆ จะได้หัดใช้เครื่องมือเหล่านี้จริงๆ ตั้งแต่ตอนเรียนมัธยมกันเลย
การเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก และหากมองย้อนกลับมาเมืองไทยเราเอง ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าบางกรณีเด็กๆ บ้านเราก็ยังคงต้องใช้ Software เถื่อนเพื่อการเรียนรู้กันอยู่เลย ประเด็นนี้จึงน่าสนใจไม่น้อยทีเดียวว่าเราจะร่วมกันแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร
4. การให้ความสำคัญกับการที่เด็กๆ จะเข้าสู่โลกของเทคโนโลยีให้ได้เร็วที่สุด
ในสารคดีเราจะได้เห็นบางทีมที่ได้เรียนรู้การใช้งานเทคโนโลยีหรือมุ่งเน้นไปที่การพัฒนา Software ตั้งแต่ตอนเรียนมัธยมกันแล้ว เพราะถือว่าเครื่องมือและแนวคิดเหล่านี้เป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในอนาคต ทำให้บางทีมนั้นมีพื้นฐานที่ดีกว่าทีมอื่นๆ, มีทรัพยากรที่พร้อมกว่าทีมอื่นๆ และสามารถเข้าร่วมแข่งขันได้โดยมุ่งเน้นไปที่โจทย์ทางด้านธุรกิจอย่างเต็มที่นั่นเอง ในขณะที่บางทีมนั้นถึงแม้จะต้องเริ่มต้นเรียนรู้การเขียนโปรแกรมจากศูนย์ หรือหัดใช้ภาษาใหม่ๆ ในการพัฒนา Mobile Application ด้วยตัวเองในระยะเวลาที่สั้น แต่อย่างน้อยเด็กๆ เหล่านี้ก็ยังสามารถเข้าถึงสิ่งที่จำเป็นต่อการเริ่มต้นการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วยตัวเองได้อย่างรวดเร็ว ทั้งในแง่ของ Hardware, Software และคำแนะนำจากผู้ที่มีความรู้
ที่มา : https://www.techtalkthai.com/codegirl-a-recommended-it-documentary-on-netflix/